top-button
คณะทำงานโครงการร่วมศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้ BAT/BEP ในการรีไซเคิลเศษโลหะ ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้
วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2566

ดร. อดิทัต วสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการ (Chair of Project Steering Committee: PSC) เป็นหัวหน้าคณะร่วมกับ Dr. Carmela Centeno (Co-Chair of PSC) ในการเดินทางไปประชุมหารือและศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้ BAT/BEP ในโรงงานรีไซเคิลเศษโลหะเพื่อป้องกันและลดการปลดปล่อย U- POPs ตลอดจนอุตสาหกรรมโลหะปลายน้ำ ในระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม - 2 กันยายน 2566 ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งองค์ประกอบของคณะศึกษาดูงานประกอบด้วยคณะทำงานโครงการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ UNIDO โดยมี ดร. กิตติพันธุ์ บางยี่ขัน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายอุตสาหกรรม) สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว เข้าร่วมศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ ตามลำดับดังนี้

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2566

-ประชุมหารือและเยี่ยมชมศูนย์รวบรวมเศษเหล็กของบริษัท Daehan Steel&Recyling ณ เมืองอินชอน บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตเหล็กกล้าจากเศษเหล็กชั้นนำของสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็ก H-beam และเหล็กแผ่น รวมทั้งมีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความเชี่ยวชาญด้าน Renewable Materials

วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566

-ประชุมหารือและเยี่ยมชม Photovoltaic (PV) Recycling Center ศูนย์วิจัยการรีไซเคิลแผงโซล่าร์เซลล์ที่ Chungbuk Techno Park ณ เมืองชองจู เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าวัสดุทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลซากแผงฯ ได้แก่ กระจก อะลูมิเนียม ซิลิกอน และทองแดง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ

วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566

-ช่วงเช้า: เยี่ยมชมศูนย์จัดการขยะ Sudokwon Landfill ณ เมืองอินชอน เป็นศูนย์รวมการบำบัดของเสียระดับโลกที่มีการจัดการของเสียที่ดีด้วยการเปลี่ยนเป็นพลังงาน และพัฒนาเป็นอุทยานสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Complete Resource Circulation for Waste) ประกอบด้วยหลุมฝังกลบมีพื้นที่ 20 ล้านตารางเมตร ความจุ 18,000 ตันต่อวัน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 50 เมกะวัตต์ เมืองพลังงานสิ่งแวดล้อมซึ่งผลิตพลังงานประมาณ 2.61 Gcal ต่อปี และพื้นที่พักผ่อนสำหรับประชาชน

-ช่วงบ่าย : ประชุมหารือและเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม E-Tech Hive ภายใต้ Korea Environmental Industry & Technology Institute (KEITI) สถาบันอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ณ กรุงโซล เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรีไซเคิลและบำบัดของเสียควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินการสร้างและขยาย Green Cluster ที่มีการนำขยะหรือของเสียไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเป็นพลังงานทดแทน และดำเนินโครงการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2566

-เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ด้านอัพไซเคิล Seoul Upcycling Plaza (SUP) ณ กรุงโซล เป็นศูนย์เรียนรู้การอัพไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาเรียนรู้การสร้างมูลค่าจากขยะหรือของเสีย รวมถึงวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ด้วยการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ตามแนวคิดการหมุนเวียนของทรัพยากรให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความตระหนักด้านการหมุนเวียนของทรัพยากรทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

วันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566

-ประชุมหารือร่วมกับสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าแห่งเกาหลี Korea Iron and Steel Association (KOSA) ณ กรุงโซล เป็นสถาบันที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและส่งเสริม พัฒนาการส่งออกเหล็กเเปรรูป ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยผู้ร่วมคณะศึกษาดูงานได้ให้ความสนใจ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ตลอดการดูงาน