top-button
เทรนด์โลกให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล เราดำเนินการรับมืออย่างไรเพื่อเพิ่มส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไทย
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นประธานในงานสัมมนา “รีไซเคิลดีไม่มี U-POPs : กฎหมายและสิทธิประโยชน์” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ได้มอบหมายให้คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เป็นผู้ศึกษาวิจัยและดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานองค์ประกอบที่ 1 ของโครงการ Greening the Scrap Metal Value Chain through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities (โครงการจัดการเศษโลหะที่ยั่งยืน) ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมผ่านเวทีเสวนาเชิงวิชาการ และนำเสนอนโยบายการจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) ด้วยแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BAT/BEP) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยพิธีมอบรางวัลและประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมของ NIDA ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละชุดวิชา จำนวน 19 ชุดวิชา การเสวนาจำนวน 4 หัวข้อซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Zoom meeting ระบบ Facebook Live ของสถานีโทรทัศน์ News1 และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS พร้อมทั้งนิทรรศการแสดงผลงานของโครงการและองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย บริษัท อุตสาหกรรมโลหะ มหานคร (2010) จำกัด บริษัท ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท Shimadzu Co., Ltd., ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ

การเสวนาช่วงเช้าดำเนินรายการโดย คุณรัตติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ (สถานีโทรทัศน์ช่อง News1) ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 หัวข้อ “อิทธิพลของกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเศษโลหะยุคใหม่” ซึ่งกล่าวถึงอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ การจัดการเศษโลหะ แหล่งกำเนิดมลพิษ ผลกระทบ และการลดการปลดปล่อย U-POPs จากกระบวนการรีไซเคิลเศษโลหะ รวมทั้งมุมมองในการดำเนินโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับเยาวชนและชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (NIDA) คุณนท พนายางกูร (ศิลปินและนักสื่อสารสิ่งแวดล้อม) คุณธนินรัฐ ธนเศรษฐ์โตกุล (มหานครโลหะ) และ คุณนาวา จันทนสุรคน (กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก) เป็นวิทยากร

ช่วงที่ 2 หัวข้อ “ร่างกฎหมายและค่าปลดปล่อยมาตรฐาน เพื่อการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน” เป็นการนำเสนอผลการศึกษากฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ U-POPs ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่การยกร่างมาตรการและกฎหมายการควบคุม U-POPs ของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล (NIDA) รศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) และ ผศ.ดร.ดาริกา โพธิรุกข์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) เป็นวิทยากร

การเสวนาช่วงบ่ายดำเนินรายการโดย คุณสิโมนา มีสายญาติ (สถานีโทรทัศน์ Thai PBS) ประกอบด้วย

ช่วงที่ 3 หัวข้อ “แนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะอย่างยั่งยืน” เริ่มต้นการเสวนาด้วยอธิบายถึงเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มิตรกับสิ่งแวดล้อม และกรณีศึกษาของโรงงานสาธิต คือ บริษัท ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม จำกัด ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำ BAT/BEP มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตโลหะ ซึ่งนอกจากสามารถลดการปลดปล่อย U-POPs ได้แล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงาน จากนั้นเป็นการนำเสนอมาตรการจูงใจและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการรวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย (สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย), คุณสุพัฒน์ รัตนศิริวิไล (ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม) รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) คุณทัศน์วดี ศุภธรรมกิจ (ธนาคารออมสิน) คุณอิทธิพร อินทรวิศิษฎ์ (ธนาคารกสิกรไทย) คุณฉันทนา อยู่คงพัน (ธนาคารกรุงไทย) และคุณจาตุรนต์ ศักดิ์บำรุงสกุล (ธนาคารกรุงเทพ) เป็นวิทยากร

ช่วงที่ 4 หัวข้อ “บทบาทของนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เปิดมุมมองของการใช้ทักษะด้านการสื่อสาร โดยใช้ความจริงใจเป็นหลักในการนำเสนอข้อมูล เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคและผู้ผลิต เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติจากคุณศิรพันธ์ วัฒนจินดา (ศิลปินและนักสื่อสารสิ่งแวดล้อม) และ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (NIDA) เป็นวิทยากร


ท่านสามารถติดตามโครงการและรับชมการสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Facebook page โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน (Green Scrap Metal Thailand Project) คลิกที่นี่


*Download เอกสารประกอบการสัมนา