top-button
ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงานสัมมนา "รีไซเคิลดีไม่มี U-POPs : กฎหมายและสิทธิประโยชน์" ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้ดำเนินโครงการ Greening the Scrap Metal Value Chain through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities (โครงการจัดการเศษโลหะที่ยั่งยืน) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และได้มอบหมายให้คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ให้เป็นผู้ศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างนโยบายเพื่อการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน เพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) ด้วยแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BAT/BEP) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการทบทวนวรรณกรรม สำรวจข้อมูลและความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ แล้วนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูล พร้อมทั้งวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกลั่นกรองประเด็นออกมาเป็น นโยบายที่จะสามารถถูกขับเคลื่อนไปได้โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเกิดประสิทธิผลสูงสุดในการลดการปลดปล่อยสาร U-POPs จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมหลอมเศษโลหะ และเพื่อประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และนำเสนอ 'ร่างนโยบายการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน' ให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะได้รับทราบและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอันจะเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โครงการจึงได้จัดการสัมมนา “รีไซเคิลดีไม่มี U-POPs : กฎหมายและสิทธิประโยชน์” ขึ้น น ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30 - 16.00 น ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานทั้งหมดของโครงการ

2. เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมผ่านเวทีเสวนาเชิงวิชาการ

3. เพื่อนำเสนอนโยบายเพื่อการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยกฎหมายใหม่และสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ อันจะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจจากกระบวนการรีไซเคิลเศษโลหะ

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย

         1. ภายในห้องสัมมนา

  • ช่วงเช้า การเสวนา “อิทธิพลของกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเศษโลหะยุคใหม่” และนำเสนอ “ร่างกฎหมายและสิทธิประโยชน์เพื่อการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน”
  • ช่วงบ่าย การเสวนา “กรอบการพิจารณาการปล่อยเงินกู้สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ” และร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกับ คุณศิรพันธ์ วัฒนจินดา ในหัวข้อ "บทบาทของนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"

         2. ด้านนอกห้องสัมมนาจัดเป็นพื้นที่นิทรรศการ เพื่อแสดงผลงานของโครงการและองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


รายละเอียดกิจกรรม กำหนดการ และลงทะเบียนเข้าร่วมงาน คลิกที่นี่