top-button
โครงการ Green Scrap Metal Thailand จัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ
วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรมชุดวิชาที่ 4 การจัดการกับ U-POPs ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ ในระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯ และผ่านช่องทางออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM โดยมี ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) ดร. วรนุช ดีละมัน อาจารย์ประจําคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ ดร. โฉมศรี ชูช่วย อาจารย์ประจําคณะการจัดการสิ่งแวดล้อ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นวิทยากร ซึ่งมีผู้เข้าอบรมทั้ง 3 วัน จำนวน 98 คน 122 คน และ 112 คน ตามลำดับ

และในระหว่างวันที่ 29 - 30 พฤษภาคม 2566 เป็นการอบรมชุดวิชาที่ 5 เทคนิคการสุ่มตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์สารมลพิษ U-POPs โดย ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (NIDA) เป็นวิทยากรบรรยาย และนายวิศักดิ์ บุญพรหมธีรกุล และเจ้าหน้าที่บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิทยากรสาธิตการใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่าง ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯ และผ่านช่องทางออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM ซึ่งมีผู้เข้าอบรม จำนวน 109 คน และ 111 คน ตามลำดับ จากนั้นได้แบ่งผู้เข้าอบรมเป็น 2 กลุ่มเพื่อไปศึกษาดูงานการตรวจวิเคราะห์สารมลพิษ U-POPs ในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 จำนวน 2 แห่ง คือ

- ห้องปฏิบัติการไดออกซิน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จ. ปทุมธานี โดยมี ดร.รุจยา ปทุมานนท์ และนายเมธวัจน์ รุ่งศิริวรพงศ์ เป็นวิทยากรให้ผู้ศึกษาดูงาน จำนวน 55 คน  และ

- บริษัท พาราไซแอนติฟิค จำกัด อาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 กรุงเทพ โดยมีนายสาธิต ทับทิมรักษา และนายไพฑูรย์ นิ้มวงษ์เจริญสุข เป็นวิทยากรให้ผู้ศึกษาดูงาน จำนวน 27 คน  

กิจกรรมการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการกับ U-POPs ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ รวมถึงเทคนิคการสุ่มตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์สารมลพิษ U-POPs ให้กับบุคลากรภาครัฐที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ รวมถึงภาคการศึกษาและหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานขององค์ประกอบที่ 2 ของโครงการ