top-button
ขอเชิญเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรสำหรับบุคลากรภาครัฐ ภาคการศึกษา หน่วยงานวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)

รายละเอียดหลักสูตรการฝึกอบรม

แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด(BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด(BEP) เพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ(U-POPs) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะภายใต้การดำเนินโครงการ Greening the Scrap Metal Value Chain through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities

ชื่อหลักสูตร

แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) เพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ

หลักการและเหตุผล

อนุสัญญาสตอกโฮล์มระบุให้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (Unintentionally produced Persistent Organic Pollutants : U-POPs) เช่น ไดออกซินและฟิวแรน เป็นสารพิษร้ายแรงที่จำเป็นต้องถูกกำจัดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น และเนื่องจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการปลดปล่อย U-POPs ในปริมาณสูง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จึงให้ความสำคัญกับการลดและกำจัด U-POPs ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ จึงได้นำเสนอแนวทางการลดและกำจัดสารมลพิษดังกล่าว โดยการนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) ไปใช้ในการจัดการตั้งแต่ต้นทางเพื่อป้องกันการเกิด U-POPs เช่น การคัดแยกเศษโลหะและสารปนเปื้อน การทำความสะอาดเศษโลหะ เป็นต้น ไปจนถึงการจัดการปลายทางเพื่อบำบัดหรือกำจัด U-POPs ที่เกิดขึ้น เพื่อลดการปลดปล่อย U-POPs จากอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะการฝึกอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ U-POPs ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กฏหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และการจัดการเศษโลหะในห่วงโซ่อุปทานตามยุทธศาสตร์การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน รวมทั้งการนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) ไปใช้ลดการปลดปล่อย U-POPs และประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรภาครัฐที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ รวมถึงภาคการศึกษา หน่วยงานวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงอันตรายของสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) โดยเฉพาะสารประเภทไดออกซินและฟิวแรนซึ่งเป็นสารก่อกลายพันธุ์รวมถึงเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทางเคมีของสารมลพิษดังกล่าว

3. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) ไปใช้ในการลดการปลดปล่อย U-POPs จากอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ

4. เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐ ในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ การตรวจสอบและเฝ้าระวัง และการกำหนดข้อบังคับหรือมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดและป้องกันการเกิด U-POPs ในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ

จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม

จำนวน 100 คน ต่อ 1 ชุดวิชา

ไม่มีค่าใช้จ่าย / ฟรีอาหารว่าง อาหารกลางวัน และเครื่องดื่ม

วิธีการฝึกอบรม

การบรรยาย การอภิปราย และการชมวีดิทัศน์ ผ่านระบบออนไลน์

ระยะเวลาของหลักสูตร

ระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2566 (รายละเอียดหลักสูตร คลิกที่นี่)

กลุ่มเป้าหมาย

บุคลากรภาครัฐที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ รวมถึงภาคการศึกษา หน่วยงานวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)

การรับประกาศนียบัตร

- กรมอุตสาหกรรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์เป็นรายชุดวิชา

- ผู้เข้ารับการอบรมที่ผ่านเกณฑ์การรับประกาศนียบัตรต้องเข้ารับการอบรมตลอดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละชุดวิชา

- ผู้เข้ารับการอบรมต้องมีผลประเมินการเรียนรู้หลักการฝึกอบรม (Post-test) ไม่ตํ่ากว่าร้อยละ 75

สถานที่จัดการฝึกอบรม

  • ห้องประชุมอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง 40 ซ.ฉลองกรุง 31 แขวงลำปลาทิวเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
  • ผ่าน Application Zoom

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของสารไดออกซินและฟิวแรน กฏหมาย ข้อบังคับ แผนการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง และการจัดการกับเศษโลหะในห่วงโซ่อุปทานตามยุทธศาสตร์การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนรวมทั้งได้การนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) ไปใช้ลดและกำจัดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีการลงทะเบียน

1. คลิกที่นี่ เพื่อลงทะเบียน

2. กรอกข้อมูลส่วนตัว (ชื่อ / หมายเลขโทรศัพท์ / อีเมล์ / หน่วยงาน)

3. เลือกชุดวิชา (MODULE) ที่ต้องการสมัคร (เลือกได้มากกว่าหนึ่ง)

4. ติดตามอีเมล์จากผู้จัด greenscrapmetalthailand@gmail.com