top-button
โครงการฯ จัดการฝึกอบรมหลักสูตรสำหรับบุคลากรภาครัฐและนักวิชาการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ รอบที่ ๒
วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ในระหว่างวันที่ ๒๐ มิถุนายน ถึง ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้จัดการฝึกอบรมแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) เพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ ภายใต้การดำเนินโครงการ Greening the Scrap Metal Value Chain through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กฎหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และการจัดการเศษโลหะในห่วงโซ่อุปทานตามยุทธศาสตร์การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน รวมทั้งการนำแนวทางด้านเทคนิค ที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) ไปใช้ลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) และประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรภาครัฐ ภาคการศึกษา หน่วยงานวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จำนวน ๕ ชุดวิชา โดยมีรายละเอียดการจัดอบรม ดังนี้

- ชุดวิชาที่ ๑ : สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ ปัตติยะ อาจารย์ประจำภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นวิทยากร ซึ่งมีผู้เข้าอบรม จำนวน ๓๙ คน

 - ชุดวิชาที่ ๒ : นโยบาย กฎหมาย และข้อบังคับ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM ได้รับเกียรติจากคุณธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ เป็นวิทยากร ซึ่งมีผู้เข้าอบรม จำนวน ๖๓ คน

 - ชุดวิชาที่ ๓ : อุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะกับการปลดปล่อย U-POPs เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM ได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร. รณบรรจบ อภิรติกุลอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ ดร.วารีรัตน์ อัครธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทรเด้นท์ สตีล จำกัด เป็นวิทยากร ซึ่งมีผู้เข้าอบรม จำนวน ๖๒ คน

 - ชุดวิชาที่ ๔ : การจัดการกับ U-POPs ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ ระหว่างวันที่ ๒๙ มิถุนายน ถึง ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ รศ.ดร.อดิศักดิ์ ปัตติยะ อาจารย์ประจำภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามีผู้เข้าอบรม เป็นวิทยากร ซึ่งมีผู้เข้าอบรมจำนวน ๓๕ คน ๓๖ คนและ ๒๘ คน ตามลำดับ

 - ชุดวิชาที่ ๕ : เทคนิคการสุ่มตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์สารมลพิษ U-POPs ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM และ Onsite ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น ๑๖ อาคารนวมินทร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตลอดจนไปศึกษาดูงาน ณ บริษัท พาราไซแอนติฟิค จำกัด อาคารอื้อจื่อเหลียง ถนนพระราม ๔ และห้องปฏิบัติการไดออกซิน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เทคโนธานี จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นายวิศักดิ์ บุญพรหมธีรกุล และเจ้าหน้าที่บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิทยากรสาธิตการใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่าง คุณเมธวัจน์ รุ่งศิริวรพงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ห้องปฏิบัติการไดออกซิน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณไพฑูรณ์ นิ่มวงศ์เจริญสุข ตัวแทนบริษัท พารา ไซแอนติฟิค จำกัด เป็นวิทยากรในการศึกษาดูงาน ซึ่งมีผู้เข้าอบรมจำนวน ๓๙ คน ๒๖ คน ๑๐ คน และ ๑๔ คน ตามลำดับ

ซึ่งมีผู้แทนมาจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมการอบรม เช่น กรมอนามัย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา เทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลหมอนนาง เทศบาลตําบลปากน้ำประแส สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ บริษัท เอ็มเม็กซ์ แอสโซซิเอชั่น จำกัด บริษัท คนชั่งฝอย จำกัด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น

ผลการประเมินการฝึกอบรมแสดงให้เห็นว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงอันตรายของสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) โดยเฉพาะสารประเภทไดออกซินและฟิวแรน รวมถึงสามารถนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP) ไปใช้ในการลดการปลดปล่อย U-POPs จากอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะได้มากขึ้น และในช่วงถาม-ตอบ มีการอภิปรายในประเด็นต่างๆ อย่างหลากหลาย ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจในมิติต่างๆ เพิ่มมากขึ้น