top-button
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายระดับชาติสำหรับการควบคุม U-POPs จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ
วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2565

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2564 โครงการฯ ร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายระดับชาติสำหรับการควบคุมสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ ณ ห้องประชุมกมลมาศ โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) โดยได้รับเกียรติจาก นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเป็นประธานเปิดงาน 

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืนโดยการนำ “แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BAT/BEP)” มาใช้ในกระบวนการรีไซเคิลเศษโลหะ เพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเพื่อระดมความคิดเห็นในการแปลงกรอบนโยบายฯ ไปสู่แผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาคประชาสังคม รวมถึงแนวทางในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

กิจกรรมในห้องประชุม ได้แก่ การบรรยายเรื่อง กรอบนโยบายระดับชาติสำหรับการควบคุมสารไดออกซินและฟิวแรนจากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะตามข้อตกลงของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ปี 2564 - 2573 โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และแบ่งห้องเพื่ออภิปรายกลุ่มย่อยและระดมความคิดเห็นการจัดทำแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายระดับชาติฯ ห้องที่ 1 กลุ่มภาครัฐ โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (Onsite) และห้องที่ 2 กลุ่มสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และสถานประกอบการรีไซเคิลเศษโลหะที่เข้าร่วมโครงการและสถานประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดย คุณภานุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล ทีม Nudge Thailand (Online โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (อาทิ Google Jamboard Zoom Poll เป็นต้น))

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และสถานประกอบการรีไซเคิลเศษโลหะ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมากกว่า 30 คน และเข้าร่วมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting มากกว่า 50 คน ซึ่งได้ให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนาแผนดังกล่าว

ท่านสามารถดาวน์โหลดร่างแผนการดำเนินงานฯ ได้ที่นี่